เมื่อมาเที่ยวภูเก็ต กิจกรรมท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่จะพลาดไปไม่ได้คือ การตระเวนชมอาคารบ้านเรือน ตึกสวยๆ แบบชิโนโปรตุกีสที่ ย่านเมืองเก่า ซึ่ง ณ พ.ศ.นี้ ไม่ว่าใครไปเที่ยวภูเก็ตก็จะต้องไปเดินเล่นถ่ายรูปอาคารบ้านเรือนสวยๆ ที่นี่ การเดินชมย่านเมืองเก่าอันเป็นเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองภูเก็ต นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมดั้งเดิมอันงดงามตระการตาแล้ว ในขณะเดียวกันยังได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของผู้คน และได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของภูเก็ต อีกทั้งยังมีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารพื้นเมืองซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะถิ่นอีกด้วย
ประวัติ
ในอดีตเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว เมืองภูเก็ตไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นเมืองที่มีทรัพยากรแร่ธาตุโดยเฉพาะแร่ดีบุกซึ่งมีเป็นจำนวนมาก กอปรกับหลายประเทศในขณะนั้นมีความต้องการใช้แร่ดีบุกในการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ทำให้มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกเข้ามาร่วมลงทุนเหมืองแร่ที่ภูเก็ต โดยมีแรงงานคือชาวจีน ซึ่งภายหลังแรงงานชาวจีนบ้างก็กลายมาเป็นพ่อค้าและนายเหมือง
การหลอมรวมกันของวัฒนธรรมต่างชาติในขณะนั้นทำให้ภูเก็ตมีวัฒนธรรมแบบตะวันตกและจีนผสมอยู่ รวมถึงการสร้างอาคารบ้านเรือนที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมทั้งสองฝั่ง ผสมผสานกลายเป็นสถาปัตยกรรมแบบ ชิโนโปรตุกีส (“ชิโน” แปลว่าจีน) ชิโนโปรตุกีส ก็คือการผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันออกและตะวันตก
เอกลักษณ์ของภูเก็ตที่นักท่องเที่ยวจะสังเกตเห็นได้เมื่อเข้าสู่เทศบาลเมืองภูเก็ตคือ อาคารเก่าแก่สวยงามตามสไตล์สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสย่านเมืองเก่า สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสในเมืองภูเก็ตมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามรูปแบบโครงสร้าง และฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของ โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
อาคารสาธารณะ ซึ่งเป็นอาคารราชการ สมาคมโรงเรียน และบริษัทเอกชน โดยอาคารเหล่านี้มีลักษณะเป็นตึกก่ออิฐถือปูนผนังหนา และมีลวดลายสวยงาม เช่น ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เป็นต้น
คฤหาสน์ หรือ อังมอเหลา แปลว่า ตึกฝรั่ง เป็นตึก 2 ชั้นขนาดใหญ่ ผนังก่ออิฐฉาบปูนหนา มีเสาอิงตกแต่งลวดลายปูนปั้นตามแบบศิลปะยุโรป และมีประตูหน้าต่างไม้ตกแต่งลวดลายฉลุแบบศิลปะจีน โดยรวมแล้วอาคารส่วนใหญ่มีลวดลายปูนปั้นและการตกแต่งคล้ายกับอาคารตึกแถว รวมทั้งมีการจัดช่องหน้าต่างทำให้มีความกลมกลืนกับกลุ่มอาคารตึกแถวได้เป็นอย่างดี เช่น คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์ เป็นต้น
อาคารตึกแถว (เตี้ยมฉู่) เป็นตึกแถวที่มีจุดเด่น คือ มีลักษณะเป็นซุ้มโค้งที่มีช่องทางเดินต่อเนื่องกันโดยตลอดทั้งตึก เพื่อเป็นที่กันแดดกันฝนให้แก่ผู้คนที่สัญจรไปมา เรียกว่า หง่อคาขี่ หรือ อาเขต ตึกแถวนี้ส่วนใหญ่มีหลังคาทรงสูงมุงด้วยกระเบื้องดินเผามีร่องมุมแหลมรอบตัววี ประตูหน้าต่างชั้นล่างทำด้วยไม้ตกแต่งด้วยลวดลายแบบจีน ส่วนชั้นบนมักเป็นบานหน้าต่างขนาดใหญ่ 2-3 ช่องยาวถึงพื้นห้อง เช่น ตึกแถวบริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก และซอยรมณีย์ เป็นต้น